วันจันทร์ที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2559

การติดตามะนาว

การติดตา (Budding)

 การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่นำเอาส่วนตาหรือกิ่งของพืชต้นหนึ่ง ซึ่งเป็นพืชพันธุ์ดีหรือ  กิ่งพันธุ์ดี  ไปติดเข้ากับพืชอีกต้นหนึ่ง เพื่อให้ตาของพืชเจริญเติบโตเป็นพืชต้นใหม่ต่อไป ส่วน ต้นตอ ซึ่งทำหน้าที่เป็นระบบราก นั้น เป็นต้นพืชที่มีความแข็งแรง หาอาหารเก่ง เจริญเติบโตเร็ว  ทนต่อสภาพแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมได้ดี   พืชที่นิยมขยายพันธุ์ด้วยการติดตา มีทั้งไม้ดอก ไม้ประดับและไม้ผล

  การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชอีกวิธีหนึ่งที่มีความสำคัญทางด้านการช่วยเปลี่ยนยอดต้นพืชที่มีลักษณะไม่ดี ให้เป็นพันธุ์ดีได้  ทำให้พันธุ์พืชมีความแข็งแรง ต้านทานศัตรูและความแห้งแล้งได้ดี เพราะมีต้นตอที่แข็งแรง  สามารถขยายพันธุ์ได้จำนวนมาก เพราะกิ่งพันธุ์แต่ละกิ่งจะมีหลายตา  นอกจากนี้ ยังช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับพันธุ์ไม้ด้วย โดยเฉพาะการผลิตพืชแฟนซี ซึ่งเป็นพืชที่ให้ผลผลิตหลายอย่างในต้นเดียวกัน เช่น มะม่วงอกร่องมะม่วงเขียวเสวย  มะม่วงน้ำดอกไม้ ในต้นเดียวกัน  หรือไม้ดอก เช่น กุหลาบ จะมีดอกหลายสีในต้นเดียวกัน ฯลฯ  ทั้งนี้ การติดตา สามารถ ทำได้สะดวก รวดเร็ว โดยสามารถนำตาจากกิ่งพันธุ์ดี จากแหล่งหนึ่งไปทำการติดตาอีกแหล่งหนึ่งได้ แต่อาจต้องใช้เวลาในการบังคับและเลี้ยงตาใหม่ให้เป็นต้นพืช  ยาวนานกว่าการต่อกิ่ง ดังนั้นผู้ที่ทำการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการติดตา ได้ดี ต้องมีความชำนาญและประณีตในการขยายพันธุ์

ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อการติดตา ได้แก่
1)  ต้นตอ
2)  กิ่งพันธุ์ดี


1)  ต้นตอ หมายถึง  ส่วนของต้นพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบราก  หาอาหารหล่อเลี้ยงต้นพืช  มี  2  ชนิด  คือ

     (1)  ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด
     (2)  ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ  ตอนกิ่ง หรือแยกหน่อ



           (1)  ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด    ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ผล  เช่น  มะม่วง  ขนุน  ทุเรียน  มะขาม  เป็นต้น   ต้นตอที่มีลักษณะดี  จะต้องมีลำต้นตั้งตรง  ไม่บิดคด หรือมีรอยต่อระหว่างต้นและราก เป็นแบบคอห่าน  ซึ่งเกิดจากการวางเมล็ดลงเพาะผิดวิธี

           (2)  ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ  ตอนกิ่ง หรือแยกหน่อ      บางครั้งเรียกว่า  ต้นตอตัดชำ    ส่วนมากนิยมใช้กับพืชประเภทไม้ดอกไม้ประดับ  เช่น  กุหลาบ  ชบา  เข็ม  โกสน  เฟื่องฟ้า  ผกากรอง  โมก   ฯลฯ    เป็นต้น    ข้อเสียของต้นตอตัดชำ  คือ  มีระบบรากตื้น แต่ถ้านำไปเป็นต้นตอสำหรับไม้ผล  จะต้องทำการเสริมราก เพิ่มขึ้น

การเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น ต้นตอ   ควรมีคุณสมบัติ  ดังนี้
(1) เจริญเติบโตเร็ว  ปราศจากโรคและแมลง และทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี
(2) ขยายพันธุ์ได้ง่าย ทั้งด้วยวิธีเพาะเมล็ด  ตัดชำหรือตอนกิ่ง
(3) สามารถเชื่อมต่อกับกิ่งพันธุ์ดีต่าง ๆ ได้มาก
(4) หาเมล็ดหรือต้นได้ง่าย
(5)  เป็นพืชที่มีความบริสุทธิ์ของพันธุ์สูง  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้นตอที่ได้จากการเพาะเมล็ด

2)  ตาจากกิ่งพันธุ์ดี    หมายถึง ส่วนของพืชที่ทำหน้าที่เป็นระบบยอดในต้นพืช สำหรับการขยายพันธุ์โดยวิธีการติดตา

การเลือกพันธุ์พืชสำหรับใช้เป็น กิ่งพันธุ์ดี   ควรมีคุณสมบัติ  ดังนี้
(1) เป็นกิ่งที่มีตาแข็งแรง  ไม่ว่าจะเป็นตายอดหรือตาข้าง
(2) ควรเลือกจากกิ่งกระโดง หรือกิ่งน้ำค้าง
(3) เป็นกิ่งที่มีความสมบูรณ์ปานกลาง  โดยสังเกตจากข้อ ที่ไม่ถี่หรือห่างเกินไป
(4) ตาของกิ่งพอเหมาะ  คือ มีขนาดพอประมาณเท่าดินสอดำ
(5) เป็นกิ่งที่ได้จากต้นแม่ที่แข็งแรง  สมบูรณ์ ไม่มีโรค
(6) ถ้าเป็นกิ่งแก่  ควรมีอายุไม่เกิน  1  ปี  เพราะถ้าอายุมากเกินไป ตาที่ติดจะไม่เจริญเติบโตเท่าที่ควร

วิธีการติดตา
การติดตา เป็นวิธีการขยายพันธุ์พืชที่ประหยัดกิ่งพันธุ์ดี  เพราะแทนที่จะใช้

กิ่งพันธุ์ดีหลายตาเหมือนการต่อกิ่ง  กลับใช้กับกิ่งพันธุ์ดีเพียงตาเดียว  ซึ่งจะอยู่บนส่วนของแผ่นเปลือกไม้  ซึ่งอาจจะมีเนื้อไม้หรือไม่มีเนื้อไม้ ก็ได้ ขบวนการประสานเนื้อเยื่อที่เกิดขึ้นจากการติดตา  มีลักษณะเช่นเดียวกับการต่อกิ่งทุกประการ

เครื่องมือและวัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ในการติดตา
1) ส่วนของพืชที่จะขยายพันธุ์ คือ กิ่งพันธุ์ดี
2) ส่วนของพืชที่เป็นระบบราก คือ ต้นตอ
3) มีดขยายพันธุ์หรือคัตเตอร์หรือมีดติดตาต่อกิ่ง
4) กรรไกรตัดแต่งกิ่ง
5) แถบพลาสติกพันกิ่ง

ข้อสังเกตเกี่ยวกับการติดตาที่ได้ผลดี   มีดังนี้
1) ตาต้องอยู่ในสภาพพร้อมที่จะเจริญเติบโต และอยู่ในระยะพักตัว คือช่วงฤดูหนาว และสังเกต ตาจะนูนออกมาคล้ายๆ กับตาที่กำลังจะแตกยอดใหม่

2) ต้นตอต้องอยู่ในช่วงที่ไม่พักตัวคือ เป็นช่วงที่กำลังเจริญเติบโต เนื้อเยื่อเจริญกำลังแบ่งตัวอย่างรวดเร็ว สังเกตจากเวลาใช้มีดกรีดเปลือกไม้จะมีน้ำยางไหลออกมา

3) รอยแผลที่เฉือนแผ่นตาจะต้องเรียบ แผ่นตาไม่ช้ำและฉีกขาด

4) การพันพลาสติก ควรพันให้แน่นและปิดรอยแผลไม่ให้น้ำเข้าได้ เพราะถ้าหากน้ำเข้าไปที่แผลติดตา จะทำให้ตาของพืชเน่าตายได้

5) ตาที่ติดนั้นจะต้องทำให้เนื้อเยื่อเจริญสัมผัสกับต้นตอมากที่สุดและไม่ให้ถูกแดดจัดส่องตลอดเวลา เพราะจะทำให้ตาเหี่ยวและแห้งตาย

6) มีดและมือจะต้องสะอาดปราศจากเชื้อโรคหากเชื้อโรคเข้าแผล อาจทำให้แผลเน่าและตาไม่ติดและเน่าตายได้


รูปแบบการติดตา   มีหลายวิธี    ได้แก่

1) การติดตาแบบรูปตัวที (T Budding or Shield Budding)
2) การติดตาแบบเพลต (Plate Budding)
3) การติดตาแบบแพตซ์ (Patch Budding)
4) การติดตาแบบชิพ (Chip Budding)

แต่ที่นิยมใช้ ได้แก่  การติดตาแบบรูปตัวที (T Budding or Shield Budding)  


การติดตาแบบรูปตัว  ที    มีขั้นตอน  ดังนี้
1) เลือกกิ่งที่สมบูรณ์ ไม่มีโรคและแมลง แล้วใช้ปลายมีดกรีดเปลือกให้เป็นรูปตัวที (T) โดยกรีดให้ลึกถึงเนื้อไม้ ความยาวของตัวที (T) ประมาณ 3  เซนติเมตร

2) เฉือนตาของกิ่งพันธุ์ดีให้เป็นรูปโล่ ยาวประมาณ 1 นิ้ว หรือมากกว่าเล็กน้อย และเฉือนให้มีเนื้อไม้ติดมาด้วย

3) ลอกเนื้อไม้ที่แผ่นตาออก ระวังอย่าให้แผ่นตาช้ำหรือสกปรก

4) สอดแผ่นตาลงในแผลของต้นตอที่กรีดไว้ทางหัวรูปตัวที (T) แล้วเลื่อนแผ่นตาลงไปให้อยู่ตรงกลางพอดี ถ้ามีแผ่นตาเหลือยาวเกินรูปตัว (T) ให้ตัดออกเสมอหัวรูปตัวที (T)

5) ใช้พลาสติกพันกิ่งพันแผลที่ติดตาให้แน่น โดยพันจากบนลงล่าง เพื่อให้เนื้อเยื่อของแผ่นตาแนบสนิทกับลำต้น เพื่อป้องกันน้ำไหลเข้าไปในแผลที่ติดตา

6) หลังจากการติดตาเสร็จแล้วประมาณ 7-10 วัน ให้ตรวจดูถ้าแผ่นตายังมีสีเขียวอยู่ แสดงว่า แผ่นตาที่นำไปติดกับต้นตอเชื่อมติดกันได้แล้ว จึงพันพลาสติกใหม่ โดยเว้นช่องตาไว้ให้ยอดที่แตกจากตาโผล่ออกมาได้

ที่มา https://www.blogger.com/blogger.g?blogID=6005348717128830748#editor/target=post;postID=3515837335078435220

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น